วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

แรงจูงใจของผู้นำในการสร้างความสำเร็จ

การที่องค์กรมีกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์  มีแผนกิจกรรมรองรับที่เชื่อมั่นได้ว่าสามารถปฏิบัติได้จริง  มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนสามารถประเมินและติดตามผลได้อย่างทันสถานการณ์  และมีทีมงานที่มีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถ ก็ยังไม่ได้เป็นสิ่งที่เพียงพอจะเป็นหลักประกันได้ว่า องค์กรจะประสบความสำเร็จบรรลุผลได้ตามเป้าหมายและกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ ทั้งนี้เพราะ ยังมีปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จขององค์กร คือ ผู้นำ ซึ่งต้องมีความสามารถในการนำทีมงานให้ก้าวข้ามพ้นปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตลอดเวลาในระหว่างทาง ให้ยังคงมีพลังที่จะมุ่งมั่นก้าวเดินไปบนเส้นทางสู่ความสำเร็จให้ได้
ในแวดวงธุรกิจเมืองไทย มีผู้นำองค์กรธุรกิจหลายท่านที่ได้รับการยกย่องว่า มีความสามารถในการนำองค์กรให้ผ่านพ้นวิกฤติ และก้าวเดินต่อไปด้วยพลังของทีมงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น หนึ่งในผู้นำองค์กรธุรกิจที่ผมชื่นชม และนึกถึงเป็นคนแรก คือ คุณตัน ภาสกรนที นักธุรกิจผู้ก่อตั้งบริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เขาขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในพ.ศ. 2551
เมื่อ คุณตัน อำลาจาก บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) อย่างเป็นทางการ คุณตัน ก็ได้สร้างบริษัทขึ้นใหม่ชื่อว่า บริษัท ตันไม่ตัน จำกัด โดย คุณตัน ภาสกรนที ให้คำมั่นสัญญาในการทำบริษัทนึ้ว่า “ในการเริ่มต้นธุรกิจของบริษัท ไม่ตัน จำกัด ครั้งนี้ เงินปันผลของบริษัทในส่วนที่เขาและภรรยาถือหุ้นอยู่ จะแบ่งเงินปันผลนี้ 50% ให้กับมูลนิธิตันปัน ตั้งแต่ปีแรกที่ดำเนินการเป็นต้นไป จนอายุครบ 60 ปีและ เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เดือน 9 พ.ศ. 2562 จะเพิ่มเงินบริจาคไม่ต่ำกว่า 90% ให้กับมูลนิธิตันปันตลอดไปเพื่อใช้ในการพัฒนาการศึกษาและสิ่งแวดล้อม”
ผมตั้งคำถามในใจว่า อะไรคือความปรารถนา (Aspiration) ของคุณตัน เลยไปค้นหาคำให้สัมภาษณ์ของคุณตันที่ปรากฎมากมายใน website คุณตันบอกว่า “คุณตันมีความเชื่อ เชื่อในสิ่งที่เราทำ เชื่อว่าเราทำได้ก็จะทำสำเร็จ ความสำเร็จมีขั้นตอน จังหวะของมันเอง อย่าใจร้อน” และ คุณตันรู้ว่า” ตัวเองไม่รู้อะไร ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ”  
ผมได้คำตอบสำหรับคำถามในใจของผมแล้วครับว่า ความปรารถนา (Aspiration) ของคุณตัน ภาสกรนที คือ ความสำเร็จ (Achievement) และการพัฒนาตนเอง (Advancement) และ การได้รับการยอมรับ (Recognition)
คุณสมบัติของผู้นำที่ดีต้องมีความปรารถนา (Aspiration) ของตนเองก่อน ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับตนเอง สำคัญมากครับ ก่อนที่เราจะไปสร้างแรงจูงใจให้กับทีมงาน การสร้างแรงจูงใจให้กับตนเองนี้ หรือความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าต่อไป เป็นสิ่งที่ออกมาจากข้างใน ไม่ได้มีใครมาบังคับ
มีคนเข้าใจว่า ผู้นำที่จูงใจคนอื่นเป็นคนที่ชอบกระตุ้นจิตใจคนอื่น ชอบพูดถึงแต่เรื่องดีๆ  ความจริงแล้วก็มีบ้างที่เป็นแบบนั้น แต่ผู้นำที่จูงใจคนอื่นได้นั้น ทุกคนล้วนแต่เป็นผู้นำที่ทำตัวให้เห็นเป็นแบบอย่างมากกว่าจะใช้ศิลปะในการพูด พวกเขาทุกคนทำงานหนักและมุ่งมั่นจนน่าทึ่ง การเป็นผู้นำต้องใช้ความพยายามมหาศาล
แรงจูงใจบนความปรารถนา (Aspiration) เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เกิดขึ้นได้ทุกวันไม่ว่าที่ไหนบนโลกใบนี้ แรงจูงใจจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดแสงสว่างขึ้นในใจ หรือเกิดขึ้นในความคิด หรือในจิตใจใครบางคน แล้วบุคคลนั้นพูดออกมาว่า “ใช่แล้วล่ะ ผมทำเรื่องนั้นได้”
Frederick Herzberg นักจิตวิทยาด้านพฤติกรรม ผู้ศึกษาเรื่องการจูงใจในที่ทำงาน และคิดทฤษฎี“Motivation Hygiene” ขึ้นมา ทฤษฎีนี้แบ่งการจูงใจเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ปัจจัยภายในซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวบุคคล (Motivation Factors) และปัจจัยภายนอกซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานที่ทำงาน (Hygiene Factors)
ปัจจัยภายในประกอบด้วย “ความสำเร็จ (Achievement), การได้รับการยอมรับ (Recognition), งานที่ทำอยู่ (Work itself), หน้าที่ความรับผิดชอบ (Responsibility), การพัฒนาในงาน (Advancement), และการเติบโตในหน้าที่งาน (Growth)
ผมลองถามใจตัวเองว่า แล้วอะไรคือ ความปรารถนา (Aspiration) ของผม ในความมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่เป็นอาจารย์ นักวิจัย และการเขียนบทความเพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ คำตอบก็คือ ผมปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็น “นักวิชาการที่มีการพัฒนาองค์ความรู้ที่ทันสมัยและปฏิบัติได้จริง” จากลูกศิษย์ของผม และจากผู้อ่านบทความของผม
ความสำเร็จจะบรรลุผลได้ นอกจากการที่ผู้นำจะต้องสามารถสร้างแรงจูงใจที่เกิดขึ้นภายในตนเองให้ได้แล้ว ยังต้องมีความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) ให้เกิดขึ้นในใจของทีมงานด้วย
แรงบันดาลใจของทีมงาน เกิดได้ด้วยการจุดประกายความคิดของผู้นำ การเห็นตัวอย่างที่ดีของผู้นำที่ทำให้ทีมงานอยากปฏิบัติตาม เห็นความสำเร็จของผู้นำที่เราอยากสำเร็จตาม บางท่านอาจได้เคยมีโอกาสเข้าไปร่วมกิจกรรมของธุรกิจขายตรงแบบเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นของต่างชาติ หรือธุรกิจขายตรงของไทย จะพบบรรยากาศหนึ่งที่เหมือนกัน คือ การเชิญผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจขายตรง ที่มีรายได้ มีผลตอบแทนสูง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ขึ้นบนเวทีกล่าวถึงความสำเร็จที่ได้มาด้วยความทุ่มเทพยายาม ให้กับเพื่อนสมาชิกผู้เข้าร่วมงานได้ฟัง นั่นหล่ะครับ คือวิธีการสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) ให้กับทีมงาน
ช่วงวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 ผมติดตามข่าวทุกวัน ได้รับรู้ข่าวว่า โรงงานของคุณตัน ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อยุธยา ประสบปัญหาน้ำท่วมเสียหายหนักมาก คุณตัน ได้แสดงให้เห็นถึงหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะหัวเรือใหญ่ที่ไม่ทอดทิ้งทีมงานที่กำลังต่อสู้กับมหันตภัยที่โรงงาน ผมเชื่อโดยสนิทใจว่า นั่นเป็นจิตวิญญาณของความเป็นผู้นำที่แท้จริงของคุณตัน เพราะคุณตันได้แสดงให้สังคมเห็นมาอย่างต่อเนื่องถึงการเป็น “ผู้ให้” แม้ในยามวิกฤติคุณตันยังไม่ละเลยที่จะให้ความช่วยเหลือต่อผู้ที่ประสบอุทกภัย
ข่าวเย็นวันหนึ่ง ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งไปถ่ายทำรายการเยี่ยมผู้ประสบภัยแถวถนนเสนานิคม กรุงเทพฯ  มีผู้ชายคนหนึ่งที่ประสบปัญหาน้ำท่วมบอกกับผู้สื่อข่าวด้วยประโยคเดิมซ้ำๆ หลายครั้งว่า “ผมเป็นลูกน้องคุณตันครับ ผมสู้เต็มที่ครับ” สิ่งที่คุณตันทำ ได้เป็นการสร้าง แรงบันดาลใจ (Inspiration) ให้กับลูกน้องคุณตัน รวมทั้งผม และใครอีกหลายๆ คน
Frederick Herzberg ได้พบว่า ปัจจัยภายนอก ได้แก่ นโยบายของบริษัทและการบริหารงาน (Company Policies & Administration), การควบคุมดูแลการทำงาน (Supervision), สภาพแวดล้อมการทำงาน (Working Conditions), , เงินเดือน (salary), สถานะ (Status), ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน (Interpersonal Relations)และความมั่งคงในงาน (Job Security)
Herzberg ค้นพบว่า สิ่งที่อยู่ภายในคนเรานั้นสำคัญเหนือกว่าสิ่งที่อยู่ภายนอก คือ คนเราเกิดแรงจูงใจมาจากภายในตัวของเราเอง นั่นคือ ต้องการจะประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ดีปัจจัยภายนอกก็มีผลต่อความพึงพอใจในงานที่ทำด้วย คือ ถ้าปัจจัยภายนอกดีก็พึงพอใจ แต่หากปัจจัยภายนอกไม่ดีจะทำลายความพึงพอใจในงานที่ทำ แนวคิดของHerzberg ทำให้เกิดการทำ Job Enrichment หรือเป็นการปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อให้คนทำงานมีความพึงพอใจมากขึ้น ซึ่งเปิดโอกาสให้พนักงานได้พัฒนาสภาพจิตใจให้ดีขึ้น ทฤษฎีนี้มีผลให้แผนกบริหารทรัพยากรมนุษย์วางโครงสร้างของงานและแผนพัฒนาอาชีพในระยะยาว ส่งผลให้พนักงานมีโอกาสตัดสินใจได้มากขึ้น มีหน้าที่ความรับผิดชอบมากขึ้น และมีอำนาจหน้าที่มากขึ้นด้วยเมื่อได้ขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งบริหาร
ผู้นำส่วนใหญ่หลงเชื่อไปว่า แรงจูงใจ (Motivation) ไม่ใช่เรื่องยาก จะผลักดันให้ลูกน้องทำงานอะไรก็แค่ข่มขู่ ใช้เงิน หรือให้ผลประโยชน์ตอบแทน สิ่งที่กล่าวมาสามารถทำให้ลูกน้องทำงานได้ก็จริง แต่ความเป็นจริงแล้ว ลูกน้องไม่ได้มีใจอยากทำงานเหล่านั้นจริงๆ เลย แถมวิธีการเหล่านั้นก็ใช้ไม่ได้ผลแบบยั่งยืน ไม่นานลูกน้องก็หมดไฟหรือเดินจากองค์กรไป
แรงจูงใจต้องเกิดจากใจของคนเราเอง ไม่สามารถไปบังคับให้เกิดความรู้สึกแบบนี้ขึ้นมาได้ ฉะนั้น ผู้นำต้องสร้างสภาพแวดล้อม (Hygiene Factors) ที่ช่วยให้ลูกน้องเกิดแรงจูงใจขึ้นด้วยตัวเขาเอง และเมื่อเกิดแรงจูงใจขึ้นแล้ว พวกเขาจะทุ่มเททำงานโดยที่ไม่ต้องมีใครไปข่มขู่หรือเคี่ยวเข็ญพวกเขาเลย
แรงจูงใจทั้งของตัวผู้นำและทีมงานจะยิ่งทวีคูณเพิ่มขึ้น เมื่อสามารถทำในสิ่งที่ฝันไว้ให้เป็นจริงขึ้นมาได้(Realization) การทำให้เป็นจริงได้หรือทำให้สำเร็จ เกิดขึ้นได้จากความมุ่งมั่น ทุ่มเท ของผู้นำและทีมงาน การปฏิบัติตามขั้นตอน แผนงานที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ใจร้อน ให้อำนาจและความรับผิดชอบในการตัดสินใจกับทีมงาน เพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันสถานการณ์  สร้างบรรยากาศความสุขในที่ทำงาน ท้าทายและฉลองความสำเร็จในทุกย่างก้าว
ผมเชื่อว่า เราทุกคนมีความปรารถนาที่จะได้เป็นผู้นำ ที่ประสบความสำเร็จ เป็นที่ยอมรับ และได้รับการยกย่อง ชื่นชมจากทีมงาน และหัวหน้างาน ผมหวังว่า บทความนี้คงมีส่วนช่วยสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) ให้ท่านได้สร้างความปรารถนา (Aspiration)  ของตัวท่านเอง

เกี่ยวกับผู้เรียบเรียง

นักการตลาดกากๆคนหนึ่ง

ผู้ที่ชอบสังเกตุเรื่องราวต่างๆ แล้วมารวมแนวคิด กลั่นมันออกมา

แสดงความคิดเห็น

 
MBA Marketing © 2015