วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

โซเชียล เน็ตเวิร์ค พลวัตการตลาด 3.0

"โซเชียล เน็ตเวิร์ค" มีบทบาทแค่ไหนในวิถีชีวิตของคนยุคนี้? คำตอบที่ได้คงหนีไม่พ้น "จำเป็น" และ "จำเป็นมากที่สุด" ไปจนถึง "ขาดไม่ได้"

เมื่อถามไปยังผู้บริหารองค์กรต่างๆ ถึงความจำเป็นในการใช้ "โซเชียล เน็ตเวิร์ค" จะพบว่า ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าเป็นภารกิจสำคัญขององค์กรยุคนี้ และยุคหน้า ที่ต้องลุกขึ้นมาสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านโซเชียล เน็ตเวิร์ค
และที่สำคัญเพื่อให้รู้ว่า ในช่วงเวลานั้นๆ องค์กร และสินค้า มี "คนรัก" และ "คนชัง" มากน้อยแค่ไหน
ชาลอต โทณวณิก ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด ( มหาชน) และ พรทิพย์ กองชุน หัวหน้าฝ่ายการตลาด กูเกิล ประเทศไทย สองผู้บริหารองค์กรระดับโลก และองค์กรของไทย มาร่วมกันถ่ายทอดมุมมองการดำเนินธุรกิจ "ยุคใหม่" ต้องพึ่งพา "โซเชียล เน็ตเวิร์ค" หากต้องการเข้าถึง "ใจ" และ "จิตวิญญาณ" (Human Spirit) ผู้บริโภค ตาม กรอบคิดของปรมาจารย์การตลาด ฟิลิป คอตเลอร์ (Phillip Kotler) ว่าไว้
.....การตลาด 3.0 เป็นการตลาดยุคใหม่ที่เน้นสร้างค่านิยมในใจผู้บริโภคให้รู้สึกผูกพันกับแบรนด์สินค้า ทั้งความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจในสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสินค้าและบริการ โดยที่การใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ค เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสะท้อนกลับซึ่งความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อองค์กร สินค้า และบริการ
จากประสบการณ์คร่ำหวอดในองค์กรบิ๊กเนม อาทิ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ล่าสุดกับ ชาลอต โทณวณิก ในบทบาทผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด ( มหาชน) ให้ความเห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจาก "อดีต" ถึง "ปัจจุบัน"
"ในอดีตลูกค้าจะพอใจหรือไม่พอใจ ส่วนใหญ่จะไม่พูด หรือ แค่เพียงยกหูหาเจ้าของสินค้านั้นๆ เทียบกับวันนี้แล้วแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง วันนี้ผู้บริโภครู้สึกอะไรก็แสดงออกมาทันทีโดยมี โซเชียล เน็ตเวิร์ค เป็นตัวเชื่อม ทั้งแบบ one to one ไปจนถึง one to many ดังนั้นจะมีคนจำนวนมากในเน็ตเวิร์คที่ได้รับรู้ถึงความรู้สึกที่ดี ไม่ดี ของสินค้า บริการ และรวมถึงองค์กรด้วย เพราะวันนี้การเข้าถึงผู้บริโภคไม่ได้มองแค่สินค้า แต่มองเป็นคุณค่าขององค์กร"
การทำการตลาดในยุค 3.0 ชาลอต บอก มุ่งทำแคมเปญด้านการตลาดสินค้าอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องเน้นสร้างกลุ่มคนเพื่อสื่อสาร และทำการตลาดในเชิงลึก ถึงจิตวิญญาณมากขึ้น
กูเกิล หนึ่งในองค์กรที่มีจุดเริ่มต้น และเติบโต จากเทคโนโลยี และ "โซเชียล เน็ตเวิร์ค" ให้น้ำหนักของการตลาดยุค 3.0 ว่าไม่เพียงการสร้างเครือข่าย "Follow" เท่านั้น แต่การใช้ "โซเชียล เน็ตเวิร์ค" ต้องตอบโจทย์ซึ่งกลยุทธ์ของธุรกิจ พร้อมด้วยตัวชี้วัดที่แม่นยำ
ในต่างประเทศการตลาด "โซเชียล เน็ตเวิร์ค" ได้ก้าวไปอีกขั้น เมื่อองค์กรที่ใช้งานสามารถชี้วัดได้ถึงอารมณ์ ทัศนคติ (Sentiment) ที่มีต่อแบรนด์ หรือ ธุรกิจนั้นๆ ได้
"ต่างประเทศจะมีเครื่องมือวัดผลว่าคนที่โพสต์นั้นมีทัศนคติที่เป็น บวก หรือ ลบ อาทิ มียอดโพสต์ 1,000 คน มีกี่เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ชอบ" พรทิพย์ กองชุน หัวหน้าฝ่ายการตลาด กูเกิล ประเทศไทย เปิดเผย
นอกจากจะทราบถึงคนที่มีทัศนคติด้านบวก/ลบต่อองค์กร หรือ สินค้าแล้ว สิ่งที่องค์กรควรรับรู้ตามมาเมื่อใช้ "โซเชียล เน็ตเวิร์ค" ก็คือ ข้อความที่ถูกส่งต่อๆ กันไปนั้น "ใคร" คือคนที่มีอิทธิพล (มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก) เรียกว่า เป็นระดับหัวโจก ก็ว่าได้ หากสแกนออกมาได้แล้วว่าเป็นใคร แล้วสื่อสารข้อความออกไปให้ตรงจุด ย่อมจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดของการสื่อสารผ่าน "โซเชียล เน็ตเวิร์ค"
Telemedicine (การรักษาโรคทางไกล) และ Google+ Hangout เพื่อการรักษาโรคทางไกล กรณีศึกษาในยุคการตลาด 3.0 ที่นำเทคโนโลยีมาสร้าง "คุณค่า" ให้เกิดขึ้นในสังคม
Telemedicine หรือ การรักษาโรคแบบทางไกล อีกรูปแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเมืองและคนในชนบทให้ดีขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีด้านไอทีและเทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคม (โทรศัพท์ คลื่นวิทยุ คลื่นไมโครเวฟ Wi-Fi เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 3G 4G ดาวเทียม เป็นต้น) มาช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรค รักษาโรคและดูแลผู้ป่วย โดยมักจะมุ่งไปเพื่อการนำบริการด้านสาธารณสุขเข้าไปยังพื้นที่ที่ห่างไกลและขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญและบริการด้านสุขภาพ ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่การทำตารางนัดหมายแบบออนไลน์ไปจนถึงการผ่านตัดทางไกล (Remote Surgery)
ขณะที่ Google+ Hangout เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วและใช้กันในชีวิตประจำวันที่ช่วยให้สามารถสนทนาแบบเห็นหน้ากันหลายๆ คนพร้อมกันผ่านทางอินเทอร์เน็ต ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วเป็นพยาบาลที่ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ บ้านหนองโสมง ตำบลอุดมทรัพย์ อยู่ในภาวะขาดแคลนผู้ เชี่ยวชาญเฉพาะโรค โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง จึงขอคำปรึกษากับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ ที่ประจำอยู่ที่โรงพยาบาล ประจำอำเภอวังน้ำเขียว โดยการคุยกันผ่านทาง Google+ Hangout ด้วยการสนทนาแบบทั้งภาพและเสียง คล้ายๆ กับการทำ Video Conference ผ่านทางอินเทอร์เน็ตระบบ 3G ซึ่งคุณหมอก็ได้ให้คำแนะนำถึงวิธีการรักษา เป็นการล่นระยะเวลาในการเดินทางไปหาหมอในเมือง
แม้ว่า "โซเชียล เน็ตเวิร์ค" จะก่อให้ "ประโยชน์" หลากหลายตามมา แต่สิ่งที่พึงระวังก็คือ ทักษะของผู้ใช้งาน "โซเชียล เน็ตเวิร์ค" ขององค์กร
"ในยุคที่การสื่อสาร จาก one to one กลายเป็น one to many และ many to many ข้อความที่ไหลเวียนกันเป็นจำนวนมากในเครือข่ายโซเชียล เน็ตเวิร์ค เป็นสิ่งที่องค์กรธุรกิจ หรือ สินค้าต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะทักษะของคนที่จะทำหน้าที่ในการดูแลข่าวสารขององค์กร และข้อความที่ผู้บริโภคฟีดแบ็คกลับมา" ศิริกุล เลากัยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ กล่าว
การตลาด 3.0 ว่าด้วยการสัมผัสถึง ตรึงใจ และเข้าถึงจิตวิญญาณของผู้บริโภค โดยการนำเทคโนโลยี และ "โซเชียล เน็ตเวิร์ค" เข้ามาสนับสนุนและต่อยอดเพื่อให้เกิด "คุณค่า" กับมนุษย์ และสังคม

เกี่ยวกับผู้เรียบเรียง

นักการตลาดกากๆคนหนึ่ง

ผู้ที่ชอบสังเกตุเรื่องราวต่างๆ แล้วมารวมแนวคิด กลั่นมันออกมา

แสดงความคิดเห็น

 
MBA Marketing © 2015